รวมน้ำพริกสุดฮิต เมนูอร่อยทั่วไทย แซ่บต้องบอกต่อ

15999 จำนวนผู้เข้าชม  | 

น้ำพริกสุดฮิต_อร่อยทั่วไทย_แซ่บต้องบอกต่อ

น้ำพริก คือ วัฒนธรรมการกินอาหารดั้งเดิมแบบไทย ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกภาคไหนรับรองว่าอร่อยไม่แพ้กันอย่างแน่นอน เพราะแต่ละสูตรล้วนแสดงเอกลักษณ์เฉพาะตัวสอดคล้องกับพื้นที่และวัฒนธรรมนั้นๆ แถมยังมีประโยชน์มากมายและยังเป็นอาหารประจำครัวไทยเกือบทุกบ้าน คุณค่าทางโภชนาการและสอดคล้องกับความเป็นอยู่ของเรา สำหรับวิธีการทำน้ำพริกก็ไม่ยุ่งยากอะไร เพียงแค่มีรสเผ็ดของพริก รสเปรี้ยวของผลไม้ รสหวานจากน้ำตาล และรสเค็มจากเกลือและน้ำปลา เอามาผสมรวมๆ กันเท่านี้ก็เรียกว่า “น้ำพริก” ได้แล้ว

น้ำพริกเป็นอาหารที่อยู่คู่คนไทยมานาน ในช่วงแรกๆ ที่น้ำพริกเข้ามาในเมืองไทย มักจะถูกใช้เพื่อการดับกลิ่นคาวในอาหารและกินพร้อมกับอาหาร วัฒนธรรมการกินน้ำพริกเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ผู้คนในสังคมไทยได้รังสรรค์ขึ้นมาจากทรัพยากรอาหารที่มีในท้องถิ่นอย่างชาญฉลาด ได้ที่งความอร่อย วันนี้เราได้รวบรวมน้ำพริก 4 ภาค มาให้ทุกคนได้ลองทำตามกัน นอกจากนี้น้ำพริกอร่อยๆ กินกับผักต้มบ้านเราอร่อยที่สุด ทำกินก็ได้ ทำขายก็ดี

น้ำพริก 4 ภาค กับความอร่อยที่ลงตัว แบบไม่ซ้ำ

1. น้ำพริกภาคกลาง

น้ำพริกภาคกลางจะมีรสชาติกลมกล่อม ไม่มีรสใดรสหนึ่งโดดออกมาจนเกินไป มีทั้งเผ็ด เค็ม เปรี้ยว และหวาน ที่ผสมกันอย่างพอดีพอเหมาะ น้ำพริกของคนภาคกลางส่วนมากเป็นตำรามาจากในวังที่เน้นเรื่องความสวยงาม เช่น น้ำพริกลงเรือ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาทู น้ำพริกเผา เป็นต้น

2. น้ำพริกภาคเหนือ

สำหรับเครื่องปรุงน้ำพริกของคนเหนือ คือต้องเอาไปย่างหรือเผาให้สุกก่อน เพื่อจะช่วยเพิ่มความหอมและความอร่อยให้กับน้ำพริกมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นน้ำพริกสูตรดั้งเดิมจะปรุงรสด้วยเกลือเป็นหลัก ส่วนผสมของน้ำพริกส่วนใหญ่ได้มาจากท้องถิ่นนั้นๆ เช่น เนื้อสัตว์ พืช ผัก แมลง และที่ขาดไม่ได้ คือ ถั่วเน่า (ถั่วเหลืองที่เอามาหมักแล้วทำเป็นแผ่นตากแห้ง) แทนการใช้กะปิ จึงทำให้มีกลิ่นและรสเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร และน้ำพริกที่ขึ้นชื่อถือเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ ได้แก่ น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปู๋ (น้ำปู๋ หรือ น้ำปู ได้จากการตำปูสดเคี่ยวจนงวด) น้ำพริกข่า เป็นต้น

3. น้ำพริกภาคอีสาน

น้ำพริกภาคอีสาน ได้แก่ แจ่ว ป่น ซึ่งต้องกินกับข้าวเหนียวและอาหารพวก นึ่ง ปิ้ง ทอด ถ้าเอามาตำรวมกับเครื่องปรุง อย่าง ปลา เห็ด ก็จะเรียกว่า ป่น น้ำพริกอีสานส่วนมากจะมีรสเผ็ดนำ เค็มตาม ส่วนความหวานและเปรี้ยวได้รสชาติตามธรรมชาติของเครื่องปรุงเท่านั้น แต่ที่ขาดไม่ได้ คือ ปลาร้า สำหรับน้ำพริกของคนอีสานที่ทุกคนรู้จัก เช่น ปลาร้าบอง น้ำจิ้มแจ่ว น้ำพริกปลาร้า เป็นต้น

4. น้ำพริกภาคใต้

น้ำพริกของภาคใต้มีวิธีการทำหลายแบบ เช่น ใช้คลุกเคล้ารวมกันด้วยมือเรียก น้ำชุบหยำ หรือ น้ำชุบโจร แต่ถ้านำมาตำและปรุงให้เข้ากันเรียก น้ำชุบผัด น้ำพริกคนใต้ส่วนมากจะมี พริก หัวหอมแดง และกะปิ น้ำพริกใต้รสชาติจะเผ็ดร้อนและจัดจ้านได้จาก พริกสด พริกแห้ง พริกไทย รสเค็มได้จากกะปิ เกลือ รสเปรี้ยวจากส้มแขก ตะลิงปลิง ระกำ มะนาว มะขามเปียก หรือมะขามสด น้ำพริกของคนใต้ที่รู้จักกันดี เช่น น้ำพริกไตปลาแห้ง น้ำพริกโจร น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกพริกไทย น้ำพริกมะขามทอด เป็นต้น

น้ำพริกเป็นวัฒนธรรมการกินอาหารดั้งเดิมแบบไทย ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกภาคไหนรับรองว่าอร่อยไม่แพ้กันอย่างแน่นอน เพราะแต่ละสูตรล้วนแสดงเอกลักษณ์เฉพาะตัวสอดคล้องกับพื้นที่และวัฒนธรรมนั้นๆ แถมยังมีประโยชน์มากมายและยังเป็นอาหารประจำครัวไทยเกือบทุกบ้าน วันนี้เราได้รวบรวมน้ำพริก 4 ภาค มาให้ทุกคนได้ลองทำตามกัน นอกจากนี้น้ำพริกอร่อยๆ กินกับผักต้มบ้านเราอร่อยที่สุด ทำกินก็ได้ ทำขายก็ดี ในบทความนี้มีเมนูอะไรบ้างมาดูกัน

 

3 น้ำพริกยอดฮิตภาคเหนือ

1. น้ำพริกเห็ดย่าง

น้ำพริกเห็ดย่าง เป็นสูตรน้ำพริกอร่อย ทำง่าย ดีต่อสุขภาพ เพราะการทานน้ำพริกนั้นนอกจากจะอร่อยในแบบรสชาติไทยๆ แล้ว ยังทำให้เราได้ทานผักต่างๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นผักลวก ผักสด ทานคู่กับน้ำพริกเป็นอะไรมราเข้ากันดีเหลือเกิน บอกเลยว่าได้รับวิตามินจากพืชผักครบเลย ส่วนใครที่ชอบผักชนิดไหนก็ลองเอามาจิ้มคู่กับน้ำพริกดูนะ รับรองว่าอร่อยฟินเวอร์

ส่วนผสม (สำหรับ 1 ถ้วย) เตรียม 20 นาที ปรุง 10 นาที
  • พริกจินดาย่าง 10 เม็ด
  • พริกหนุ่มย่างลอกเปลือก 10 เม็ด
  • หอมเล็กเผาปอกเปลือก 10 หัว
  • กระเทียมกลีบใหญ่เผาปอกเปลือก 10 กลีบ
  • เห็ดย่างชนิดใดก็ได้หั่นเป็นชิ้นเล็ก 2 ถ้วย
  • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลาร้า 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลทราย ½ ช้อนชา
  • น้ำสุก 3 ช้อนโต๊ะ

เครื่องเคียงกินคู่กับน้ำพริกเห็ดอย่าง
ผักต้มสุก บวบงูต้ม มะเขือเปราะต้ม กระเจี๊ยบมอญต้ม ถั่วฝักยาวต้ม ดอกโสนลวก ดอกแคลวก และผักสดอย่างแตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วพู ไข่ต้ม

วิธีทำ
  1. โขลกพริกจินดาย่าง พริกหนุ่มย่างลอกเปลือก หอมเล็กเผาปอกเปลือก กระเทียมกลีบใหญ่เผาปอกเปลือกรวมกันในครกจนละเอียดดี
  2. ใส่เห็ดย่างลงไปในครก โขลกรวมกันจนได้เนื้อน้ำพริกตามชอบ
  3. ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำปลาร้า น้ำมะนาว น้ำตาลทราย น้ำสุก และโขลกเคล้าจนเข้ารส ส่วนของเครื่องปรุงรสปรับได้ตามชอบ
  4. ตักใส่ถ้วย โรยต้นหอมซอย เสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียง
พลังงานต่อหนึ่งหน่วยบริโภค 330.69 กิโลแคลอรี
  • โปรตีน 19.39 กรัม
  • ไขมัน 2.00 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 58.80 กรัม
  • ไฟเบอร์ 20.42 กรัม

 

2. น้ำพริกอ่อง

น้ำพริกอ่อง” เป็นอาหารเหนือรสกลมกล่อมด้วยเครื่องแกง ที่ผัดจนหอมกับรสเผ็ดนิดๆ หวานหน่อยๆ ถูกปากคนทุกเพศทุกวัย มาดูวิธีทำน้ำพริกอ่องแบบต้นตำรับกัน

วัตถุดิบน้ำพริกอ่อง
  • มะเขือเทศเชอร์รี่ 20 ลูก
  • หมูสับติดมัน 300 กรัม
  • พริกแห้ง 5 เม็ด
  • กระเทียม 1 หัว (สำหรับใส่ในเครื่องแกง)
  • กระเทียม 1 หัว (สำหรับผัดในเครื่องแกง)
  • หอมแดง 2 หัว
  • กะปิ ½ ช้อนโต๊ะ
  • เกลือ 1 ช้อนชา
  • น้ำตาล 1 ช้อนชา
  • น้ำมัน 1 ช้อนโต๊ะ
  • ต้นหอม/ผักชี 1 ต้น
  • น้ำเปล่า ½ ถ้วย

วิธีทำน้ำพริกอ่อง

ขั้นตอนที่ 1 : เตรียมเครื่องน้ำพริกอ่อง
  • โขลกน้ำพริก โดยใส่ หอมแดง กระเทียม พริกแห้ง เกลือ และกะปิ โขลกให้ละเอียด
ขั้นตอนที่ 2 : ผัดเครื่อง
  • ตั้งกระทะใส่น้ำมันเอากระเทียมบุบลงเจียว ให้มีสีเหลืองเล็กน้อย
  • เอาน้ำพริกที่โขลกไว้ใส่ลงไปผัดให้หอม ใส่หมูสับตามลงไปผัด หากมันดูแห้งเกินไปเติมน้ำเล็กน้อย
  • พอหมูใกล้สุกใส่มะเขือเทศตามลงไป ผัดจนมะเขือเทศสุกเละ ปรุงรสด้วยน้ำตาลและน้ำปลา
    TIPS : หากไม่ชอบหวานไม่ต้องใส่น้ำตาลก็ได้
ขั้นตอนที่ 3 : จัดเสิร์ฟ
  • ปิดไฟแล้วตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยต้นหอม ผักชีซอย เพียงเท่านี้ “น้ำพริกอ่อง” รสลำๆ ก็พร้อมรับประทานแล้ว
    TIPS : กินแกล้มกับ ผักสด แคบหมู หรือคลุกข้าวสวยร้อนๆ ก็เข้ากันได้ดีสุดๆ ไปเลย
เสร็จกันไปแล้วกับเมนู “น้ำพริกอ่อง” รสชาติพื้นเมืองที่หลายๆ คนคุ้นเคย ทำง่ายแบบนี้ก็อยากให้ทุกๆ คนได้นำวิธีทำและสูตรน้ำพริกอ่องไปลองทำลองชิมกันดู รับประกันความฟินจนอาจจะเผลออู้คำเมืองกันออกมาเลย

 

3. น้ำพริกตาแดง

น้ำพริกตาแดง” เมนูน้ำพริกยอดฮิต ขั้นตอนน้อยแถมรสชาติยังกลมกล่อม กินคู่กับข้าวเหนียวและผักสด ขอบอกเลยว่าเลิศแน่นอน วิธีทำน้ำพริกตาแดงก็ง่ายนิดเดียว ถ้าเพื่อนๆ พร้อมกันแล้ว ก็รีบตามพิมเข้าครัวมาทําน้ำพริกตาแดงกันเลย

ส่วนผสม น้ำพริกตาแดง

  • พริกชี้ฟ้าแห้ง 100 กรัม
  • หอมแดง 100 กรัม
  • กระเทียม 50 กรัม
  • เนื้อปลาต้มสุก 100 กรัม
  • กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะขาม 4 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมันพืช 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำน้ำพริกตาแดง

  1. นำพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม และกะปิ ลงไปคั่วหรือย่างจนหอม ตักขึ้นพักไว้
  2. ตำพริกแห้งจนแหลก ตามด้วยกระเทียมและหอมแดง ตำจนละเอียด ใส่กะปิลงไปตำพอเข้ากัน
  3. ปรุงรสด้วยมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ และน้ำปลา ตำจนเข้ากัน ตักเสิร์ฟ หรือจะเอาไปผัดกับน้ำมันในกระทะ ใช้ไฟอ่อนผัดจนหอม

 

3 น้ำพริกยอดฮิตภาคกลาง

1. น้ำพริกลงเรือ

ถ้าใครเคยอ่าน หรือผ่านตาเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานอาหารไทย แน่นอนว่าเกือบจะทุกตำราก็มักจะกล่าวถึงน้ำพริกลงเรือตำรับชาววังอยู่เสมอ เพราะน้ำพริกถ้วยนี้ถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โน่นแน่ะ [อ่านประวัติ เปิดสำรับ 

น้ำพริกลงเรือ เป็นที่นิยมมานานแล้วด้วยเสน่ห์ของรสชาติหวาน เผ็ดเค็ม มันทำให้ใครก็ตามได้ชิมก็ต้องหลงไหล แถมเครื่องเคียงก็มีมากมายทั้งผักสด และแน่นอนว่าต้องกินคู่กับหมูหวาน ปลาดุกฟู และไข่เค็ม ถึงจะอร่อยสุดๆ ถ้าอย่างนั้นก็ไปดูวิธีทำน้ำพริกกันเลย

ส่วนผสม น้ำพริกลงเรือ
  • กระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ
  • กะปิ (เผาจนหอม) 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนโต๊ะ
  • เนื้อมะดันซอยบาง 2 ลูก
  • เนื้อมะอึกหั่นบาง 2 ลูก
  • พริกขี้หนูสวน 10 - 20 เม็ด
  • น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมันพืชสำหรับผัด
  • กุ้งแห้งโขลกละเอียด 3 ช้อนโต๊ะ
อื่นๆ ทานคู่กับน้ำพริกลงเรือ
  • ปลาดุกฟู (ทานคู่)
  • ไข่เค็มต้ม หรือไข่ต้ม (ทานคู่)
  • หมูหวาน (ทานคู่)
  • ผักสดตามชอบ
วิธีทำ
  1. โขลกกระเทียมกับกะปิ และน้ำตาลปี๊บจนละเอียดเข้ากันดี ใส่เนื้อมะดัน เนื้อมะอึก และพริกขี้หนู โขลกผสมจนเข้ากันอีกครั้ง ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว คนผสมให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ เตรียมไว้
  2. ใส่น้ำมันพืชลงในกระทะ นำขึ้นตั้งไฟปานกลางพอร้อน ใส่เครื่องที่โขลกไว้ลงผัดจนหอม ใส่หมูหวาน และกุ้งแห้งลงผัดจนเข้ากัน ตักใส่ถ้วย รับประทานคู่กับหมูหวาน ปลาดุกฟูกรอบ และไข่เค็ม

 

2. น้ำพริกกะปิ

น้ำพริกกะปิ” ที่เรามักจะกินคู่ไข่เจียวชะอมหอมๆ ปลาทอดหรือย่างสักหน่อย รับรองว่ากินได้ 3 มื้อ ไม่มีเบื่ออาหารแน่นอน สำหรับมือใหม่ทางเราขอบอกเลยว่าวิธีทำน้ำพริกกะปินั้นง่ายกว่าที่คิด ถ้าพร้อมแล้วไปดูวิธีการทำน้ำพริกกะปิกัน

วัตถุดิบ
  • พริกขี้หนู 3 เม็ด
  • พริกแดง 2 เม็ด
  • กระเทียม 3 กลีบ
  • กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะนาว 3 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
วิธีทําน้ําพริกกะปิ
ขั้นตอนที่ 1 : โขลกเครื่องให้ละเอียด
  • ใส่พริกขี้หนู พริกแดง กระเทียม น้ำตาลทราย ลงไปตำให้แหลก ตามด้วยกะปิแล้วก็ตำให้เข้ากัน
    Tip : วิธีทำน้ำพริกกะปิให้เครื่องแหลกง่าย แนะนำให้ใส่น้ำตาลลงไปตำพร้อมเครื่องอื่นๆ ก่อน
ขั้นตอนที่ 2 : ปรุงรสน้ำพริก
  • ปรุงรสน้ำพริกกะปิด้วยน้ำปลา และน้ำมะนาว 
  • ใส่มะเขือพวงลงไป เท่านี้ก็เสร็จ พร้อมจัดเสิร์ฟได้

เมนู “น้ำพริกกะปิ” เป็นยังไงบ้าง ตำน้ำพริกไว้สักถ้วย ทอดปลาทู ไข่ชะอม มะเขือยาวชุบไข่ไว้ทานคู่กันสักนิด เท่านี้ก็มีมื้อที่เรียบง่ายแบบฉบับคนไทยกันแล้ว สำหรับใครยังไม่จุใจกับวิธีทําน้ำพริกกะปิก็สามารถไปดูสูตรเมนูน้ำพริกอื่นๆ เพิ่มได้ที่เว็บแม่ศรีบัว maesribua.com

 

3. น้ำพริกปลาทู

ใครที่ไม่ชอบความหอมของปลาร้า เราขอนำเสนอเมนู “น้ำพริกปลาทู” สูตรไม่ใส่ปลาร้า!! เราจะใช้ปลาทูนึ่งหรือย่าง โขลกกับเครื่องสมุนไพรพอละเอียด ปรุงรสเผ็ดตามชอบ รับรองเลยว่าเป็นเมนูที่อร่อย ถ้าพร้อมแล้วไปดูวิธีทำกันเลย

ส่วนผสม น้ำพริกปลาทู
  • ปลาทูย่าง หรือนึ่ง 1 ตัว
  • กระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ
  • หอมแดงหั่นบาง 2 หัว
  • พริกขี้หนูแดงซอย 5 - 10 เม็ด (เพิ่ม - ลด ตามชอบ)
  • น้ำต้มสุก 3 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลปี๊บ 1/2 ช้อนโต๊ะ
  • ผักสด หรือผักลวกสุก
วิธีทำน้ำพริกปลาทู
  1. แกะปลาทูย่างเอาแต่เนื้อ เตรียมไว้
  2. นำกระทะตั้งไฟพอร้อน ใส่กระเทียม หอมแดง และพริกขี้หนูลงคั่วจนไหม้เล็กน้อย ตักใส่ครก ใส่เนื้อปลาทูที่แกะไว้ โขลกพอหยาบ เติมน้ำต้มสุก
  3. ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา และน้ำตาลปี๊บ โขลกผสมให้เข้ากันดี แล้วชิมรสตามชอบ ตักใส่ถ้วย เสิร์ฟคู่กับผักสด ผักลวก หรืออื่นๆ ตามชอบ

 

3 น้ำพริกยอดฮิตภาคอีสาน

1. น้ำพริกปลาร้าสับ (แจ่วบอง)

เมนูอาหารคู่ครัวที่ใครหลายๆ คนเรียกว่า แจ่วบอง หรือ ปลาร้าบอง นั่นเอง ส่วนวิธีทำก็ง่าย ถ้าได้กินกับข้าวสวยร้อนๆ หรือข้าวเหนียวนุ่มๆ คงเพลินน่าดู ถ้าใครพร้อมที่จะทำ “แจ่วบอง” แล้ว ก็สวมผ้ากันเปื้อนแล้วตามมาเข้าครัวกันเลย

วัตถุดิบน้ำพริกปลาร้าสับ
  • ปลาร้าตัว 200 กรัม
  • ตะไคร้ 50 กรัม
  • หอมแดง 30 กรัม
  • กระเทียม 30 กรัม
  • ข่า 30 กรัม
  • พริกแห้ง 2 ถ้วยตวง
  • น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลาร้า 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะขามเปียก 1 ช้อนโต๊ะ
  • ผักแกล้มตามชอบ
วิธีทำน้ำพริกปลาร้าสับ (แจ่วบอง)
ต้มปลาร้า + คั่ววัตถุดิบ
  • นำปลาร้าไปต้มให้สุก เสร็จแล้วนำมาสับให้ละเอียด เตรียมไว้
  • นำข่า ตะไคร้ที่ซอยไว้ กระเทียม และหอมแดง นำไปคั่วให้สุกหอม เตรียมไว้
ปรุงแจ่วบอง
  • นำปลาร้าที่สับแล้ว และวัตถุดิบที่นำไปคั่ว มาสับให้ละเอียด
  • ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า น้ำตาลทราย และน้ำมะขามเปียก คนให้ทุกอย่างเข้ากัน
จัดเสิร์ฟ
  • ตักแจ่วบองใส่ในถ้วย ตกแต่งด้วยพริกขี้หนู เสิร์ฟคู่กับผักแกล้มตามชอบ เพียงเท่านี้ “แจ่วบอง” ของเราก็พร้อมรับประทานแล้ว

เมนูอาหารอีสานแซ่บๆ อย่าง “แจ่วบอง” หรือปลาร้าบอง ทำง่ายแถมอร่อย เราอยากจะบอกว่าถ้ามี “เนื้อแดดเดียว” กินคู่กันก็เพลินไม่ใช่เล่นๆ

 

2. น้ำพริกแจ่วปลาร้าพริกป่น

เมนูน้ำพริกแจ่วปลาร้าพริกป่น เมนูสูตรนี้เราจะใส่ปลาร้าสับหอมๆ กับเครื่องสมุนไพรแน่นๆ ปรุงงรสด้วยน้ำมะขามเปียกและน้ำปลา ใครหอมกลิ่นปลาร้าอยากชวนมาทำเมนูแจ่วกัน แกล้มกับเมนูปิ้งย่างหรือหมูทอดไก่ทอดสุดนัว ยิ่งกินกับครอบครัวรับรองอร่อยแซ่บทั้งบ้าน

ส่วนผสม น้ำพริกแจ่วปลาร้าพริกป่น
  • เนื้อปลาร้าสับ 5 ช้อนโต๊ะ
  • หอมแดงเผา 5 หัว
  • กระเทียมเผา 2 หัว
  • ข่าซอย 2 ช้อนโต๊ะ
  • ตะไคร้ซอย 2 ช้อนโต๊ะ
  • ใบมะกรูดซอย 1 ช้อนโต๊ะ
  • พริกป่น 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  • วิธีทำน้ำพริกแจ่วปลาร้าพริกป่น
  • นำเนื้อปลาสับใส่กระทะรวนพอสุก ตักขึ้นพักไว้
  • โขลกหอมแดง กระเทียม ตะไคร้ ข่า และใบมะกรูดให้ละเอียด ใส่ปลาร้า โขลกให้เข้ากัน
  • ปรุงรสด้วยพริกป่น น้ำปลา และน้ำมะขามเปียก เสิร์ฟกับผักสด

 

3. น้ำพริกปลาร้า

ใครที่อยากทำเมนูน้ำพริกโดยเฉพาะน้ำพริกปลาร้ายอดฮิต เราขอนำเสนอวิธีทำน้ำพริกปลาร้า เริ่มจากเอาเครื่องสมุนไพรไปคั่วจนหอมแล้วค่อยโขลกกับปลาสับ เติมน้ำปลาร้า หากใครจะดัดแปลงเป็นน้ำพริกปลาร้าปลาทูก็อร่อยเหมือนกัน กินแกล้มกับผักสดหรือผักลวก็อร่อย

ส่วนผสม น้ำพริกปลาร้า
  • หอมแดง 50 กรัม
  • กระเทียม 50 กรัม
  • พริกแดงจินดา 50 กรัม
  • พริกจินดาเขียว 50 กรัม
  • พริกชี้ฟ้าเขียว 50 กรัม
  • มะเขือเทศ 50 กรัม
  • มะขามเปียก 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำปลาร้าต้ม 1 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำน้ำพริกปลาร้า
  1. นำพริก กระเทียม หอมแดง มะเขือเทศ มาเสียบไม้ แล้วนำไปย่างบนไฟให้สุก (สามารถใช้การคั่วในกระทะได้)
  2. เมื่อส่วนผสมสุกดีแล้ว ให้นำลงจากเตา แล้วนำมาตำ เริ่มจากการตำกระเทียมและหอมแดงก่อน ตามด้วยพริก ตำให้ได้ความละเอียดตามต้องการ
  3. ใส่มะขามเปียก แล้วตำต่อให้ส่วนผสมเข้ากันดี
  4. ใส่มะเขือเทศ จากนั้นตำและคลุกให้เข้ากัน
  5. ปรุงรสชาติด้วยน้ำปลา และน้ำปลาร้า แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน พร้อมเสิร์ฟ

 

3 น้ำพริกยอดฮิตภาคใต้

1. น้ำชุบโจร หรือน้ำพริกโจร

น้ำชุบโจร หรือ น้ำชุบหยำ เป็นการทำน้ำพริกแบบขยำ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของน้ำพริกจากทางภาคใต้ โดยทั่วไปแล้ว การทำน้ำพริกต้องใช้ครกตำให้พริกละเอียด แต่น้ำพริกเมนูนี้ใช้วิธีขยำหรือคลุกแทนการตำ เป็นวิธีทำน้ำพริกจากโจรที่ต้องหลบซ่อนตัว ต้องรีบๆ ทำ และต้องทำอย่างเบามือ ไม่ให้เสียงดัง โดยใช้มือขยำเอาตามมีตามเกิด จึงเป็นที่มาของชื่อ น้ำชุบโจร หรือ น้ำชุบหยำ นั่นเอง หากไม่อยากมือเลอะให้ใช้ช้อนคลุกได้ถือว่าไม่ผิดสูตร

ส่วนผสมน้ำชุบโจร หรือน้ำพริกโจร
  • กุ้งสด 10 ตัว
  • กะปิเคย 1 ½ ช้อนโต๊ะ
  • หอมแดง 15 หัว
  • พริกสด 15 เม็ด
  • น้ำมะนาว 4 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลปี๊บ ½ ช้อนโต๊ะ
  • น้ำต้มสุก 4 ช้อนโต๊ะ
วิธีทำน้ำชุบโจร หรือน้ำพริกโจร
  1. นำกุ้งทีเตรียมไว้แกะเปลือก และนำไปลวกให้พอสุก หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วพักไว้
  2. ซอยพริก และหอมแดง ใส่ชามผสม ใส่กุ้งลงไปคลุกให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยกะปิเคย และน้ำต้มสุก
  3. ขยำให้เข้ากัน แล้วตักใส่ถ้วยกินกับข้าวสวย และผักต่างๆ เช่น ผักเหนาะ และผักเหลียง ลูกสะตอ และลูกเนียงจากภาคใต้

 

2. น้ำพริกไตปลาแห้ง

ใครที่กำลังมองหาเมนูสร้างอาชีพ หรือกำลังมองหาอาหารใต้รสเด็ดจัดจ้านอยู่ เราขอแนะนำสูตรอาหาร น้ำพริกแกงไตปลาแห้ง เครื่องแกงตำเอง เมนูสร้างอาชีพ ทำกินก็ได้ ทำขายก็ดี! น้ำพริกแกงไตปลาแห้งรสชาติจัดจ้านเข้มข้น กินคู่กับข้าวสวยร้อนๆ ถือเป็นเมนูอาหารใต้รสชาติเข้มข้น ผัดให้แห้ง ตักใส่กระปุก ก็นำไปทำขายได้แล้ว แถมเก็บไว้กินได้นานอีกด้วย สูตรนี้เราจะบอกละเอียดตั้งแต่วิธีตำพริกแกง รับรองถึงเครื่องแกงใต้แน่นอน ว่าแต่แกงไตปลาแห้งจะมีวิธีทำอย่างไรบ้างตามมาดูกัน

ส่วนผสม แกงไตปลาแห้ง

อัตราส่วน เครื่องแกง
  • พริกชี้ฟ้าแกะเมล็ด 7 เม็ด
  • พริกจินดาแห้ง 25 เม็ด
  • พริกขี้หนูสวน 20 เม็ด
  • พริกไทยดำเม็ด 1 ช้อนตวง
  • ข่าซอย 15 กรัม
  • ตะไคร้ซอย 2 ต้น
  • ผิวมะกรูด 1/2 ลูก
  • ขมิ้นซอย 25 กรัม
  • หอมแดงหั่นหยาบ 5 หัว
  • กระเทียมไทย 30 กรัม
  • กะปิ 1 ช้อนตวง
อัตราส่วน แกงไตปลาแห้ง
  • เครื่องแกงที่ตำได้ทั้งหมด
  • เนื้อปลาโอย่าง 400 กรัม (แกะก้างออกให้หมด)
  • ไตปลาทู 120 กรัม
  • ข่าหั่นแว่น 5 แว่น
  • ตะไคร้ทุบ 2-3 ต้น
  • ใบมะกรูดฉีก 5 ใบ
  • เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วสุก 100 กรัม
  • น้ำเปล่า 250 มิลลิลิตร
  • ส้มแขก 5 ชิ้น
  • ใบมะกรูดฉีกสำหรับโรย 10 ใบ
  • น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนตวง (ถ้าชิมแล้วยังรู้สึกว่าเค็มโดดอยู่ ให้เพิ่มน้ำตาลได้อีก 1/2 ช้อนตวง)

วิธีทำ แกงไตปลาแห้ง

ตำเครื่องแกง
  1. ตำเครื่องแกง นำพริกชี้ฟ้าและพริกจินดา มาโขลกให้ละเอียดก่อน 
  2. ตามด้วยพริกขี้หนูสวน พริกไทยดำเม็ด ข่าซอย ตะไคร้ซอย กระเทียม โขลกให้ละเอียด
  3. จากนั้นใส่ผิวมะกรูด ขมิ้น โขลกให้ละเอียด และปิดท้ายด้วยหอมแดงและกะปิ โขลกจนเป็นเนื้อเดียวกัน
แกงไตปลาแห้ง
  1. ตั้งหม้อ ต้มใส่น้ำเล็กน้อย ใส่ตะไคร้ทุบ ข่าหั่นแว่น และใบมะกรูด รอจนน้ำเดือด
  2. ตามด้วยไตปลา รอให้น้ำเดือด จากนั้นกรองแต่น้ำใส่ในกระทะสำหรับใช้ผัด
  3. เปิดแก๊สใช้ไฟกลางค่อนอ่อน รอให้เดือด ตามด้วยเครื่องแกงที่ตำไว้ลงไป ผัดให้เข้ากัน จนสุกหอมดี
  4. ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊ป และส้มแขก คนให้เข้ากัน
  5. พอน้ำตาลละลาย ใส่เนื้อปลา และเม็ดมะม่วงลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน ผัดจนแห้ง พยายามอย่าคนเยอะ ไม่เช่นนั้นเนื้อปลาจะเละ
  6. ชิมรสได้ตามชอบ ปิดท้ายด้วยใบมะกรูด คลุกให้เข้ากันอีกครั้ง ปิดแก๊ส เป็นอันเสร็จ

 

3. น้ำพริกกุ้งเสียบ

ใครๆ ก็รู้กันดีอยู่แล้วว่าอาหารจากภาคใต้ขึ้นชื่อเรื่องรสชาติที่จัดจ้าน! เผ็ดร้อน! จนถึงกับต้องปาดเหงื่อ และหนึ่งในเมนูยอดนิยมที่หลายๆ คนอาจเคยได้ยินมาบ้าง ก็คือ “น้ำพริกกุ้งเสียบ

น้ำพริกกุ้งเสียบจะเน้นรสสัมผัสของตัวกุ้งเสียบกรอบๆ นิยมกินกับข้าวสวย เคียงผักผักสดต่างๆ ทำให้ได้รับรสชาติอร่อยและยังดีต่อสุขภาพ หากพร้อมทำน้ำพริกกุ้งเสียบแล้วก็มาทำพร้อมกันเลย

ส่วนผสมการทำน้ำพริกกุ้งเสียบ
  • กุ้งเสียบทอด ที่สะเด็ดน้ำมันจนแห้งแล้ว 1 ทัพพี
  • พริกขี้หนูสด 2 - 3 เม็ด
  • หอมแดง 1 หัว
  • กระเทียม 4 กลีบ
  • กะปิกุ้งตาดำ 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำตาลปี๊บ
  • น้ำมะนาว
วิธีทำน้ำพริกกุ้งเสียบตำสด
  1. โขลกพริกขี้หนูสด กระเทียม และหอมแดงให้ละเอียด
  2. ใส่กะปิกุ้งตาดำลงไป บดกะปิ และโขลกให้เข้ากันกับเครื่องเทศที่ใส่ไปก่อนหน้า (สำคัญที่วิธีการบดกะปิ ต้องเอาให้ละเอียดจริงๆ ยิ่งเนียนยิ่งอร่อย)
  3. ใส่น้ำตาลปี๊บ
  4. เติมน้ำตาลทราย และน้ำมะนาว ใช้สาก หรือช้อน ลากกวนๆ ให้น้ำตาลปี๊บละลายจนหมดก้อน
  5. ใส่กุ้งเสียบ (ที่ทอดจนแห้งแล้ว) ลงไปในครก คลุกเคล้าให้เข้ากัน พร้อมเสิร์ฟแล้ว

เราสามารถรังสรรค์รสชาติของน้ำพริกกุ้งเสียบตำสดได้ตามแบบที่ชอบ เช่น ถ้าชอบรสหวาน ก็ให้เติมน้ำตาลทราย หรือชอบรสเปรี้ยว - เผ็ด ก็เติมพริกขี้หนูอีกสักเม็ด หรือน้ำมะนาวอีกครึ่งช้อนก็ได้ น้ำพริกก็เป็นอันเสร็จสิ้น อย่าลืม! ทอดไข่เจียวฟูๆ กรอบๆ สักจาน รับรองว่าอร่อยจนต้องขอเพิ่มข้าวอีกจานแน่นอน

ส่วนประกอบหลักของน้ำพริก ทานแล้วดีต่อสุขภาพ

  • พริก มีสารแคปไซซิน ที่ทำให้เผ็ดร้อนแซบถึงใจ และมีสารแคโรทีนอยด์ ซึ่งล้วนมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้สดชื่น ตื่นตัว ขับลมในลำไส้ กระตุ้นความเจริญอาหาร และยังมีวิตามินซีที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของหลอดเลือด เสริมการสร้างคอลลาเจนในชั้นผิว และช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย เหมาะกับใครที่แพ้อากาศหรือเป็นหวัดบ่อย
  • กะปิ โดดเด่นที่แคลเซียมซึ่งมีมากกว่านมวัวถึง 15 เท่า! ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง และมีวิตามินบี 12 ที่ช่วยบำรุงระบบประสาท และเสริมการสร้างเม็ดเลือด ช่วยป้องกันอาการโลหิตจางได้เป็นอย่างดี และที่โดดเด่นสุดๆ ก็คือสารแอสตาแซนทิน (Astaxanthin) ที่พบในสัตว์ทะเลอย่างกุ้ง หรือเคย ถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมากต่อร่างกายและผิวพรรณ
  • กระเทียม มี อัลซิลิน (allicin) และซัลเฟอร์ (sulfur) สูง ช่วยลดอาการขาดหลุดร่วงของเส้นผม ลดความดันโลหิต ช่วยไม่ให้เลือดจับตัวเป็นลิ่มหรืออุดตันตามผนังหลอดเลือด จึงช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิตและเสริมภูมิต้านทานร่างกายได้อีกด้วย
  • หอมแดง มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และช่วยให้การไหลวียนของเลือดดีขึ้น สามารถป้องกันการติดเชื้อ และช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดได้ นอกจากนี้หอมแดงยังมีฟอสฟอรัสปริมาณสูง ช่วยบำรุงประสาทและความจำ ทำให้สมองแจ่มใส
  • ข่า ช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับลมแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเดิน แก้บิด แก้แน่นหน้าอก และบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • ตะไคร้ ช่วยลดความดันโลหิตสูง ขับเหงื่อ แก้หวัด แก้ปวดศีรษะ แก้อาการขัดเบา ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด ช่วยขับลมในลำไส้ บรรเทาอาการไอ แก้เบื่ออาหาร เป็นยาบำรุงธาตุไฟ
  • มะกรูด น้ำมะกรูดช่วยให้เจริญอาหาร แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ช่วยขับและละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอ ใบมะกรูดช่วยรักษาอาการจุกเสียดและขับลมในลำไส้
  • มะขามเปียก มีวิตามินซี และวิตามินเอ มีแคลเซียม เป็นยาระบาย แก้ท้องผูก ช่วยขับเสมหะช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ ขับเหงื่อ ขับลม ขับเสมหะ แก้อาเจียน ลดความดันโลหิต ช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตดี ลดอาการบวม แก้ไขข้ออักเสบ
  • มะเขือพวง มีเส้นใยสูง ป้องกันท้องผูก และยังมี ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ส่วนประกอบของพริกแกงมีสารต้านมะเร็ง ส่วนขมิ้นมีสารเคอมิวมิน กรดเฟอลิกฟลาโรวอยด์ เป็นสารต้านมะเร็ง
การบริโภคอาหารของคนในยุคปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนมากินอาหารเพื่อสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีทีเดียว อย่างไรก็ตาม การบริโภคอาหารที่มีรสเค็มอย่างน้ำพริกกะปินั้นจะมีโซเดียมอยู่มาก หากใครที่ควบคุมน้ำหนักก็สามารถรับประทานน้ำพริกสูตรคลีน 2 รสชาติ ได้แก่ น้ำพริกปลากระพง น้ำพริกเห็ดเข็มทอง นอกจากนี้ Maesribua ใช้แต่วัตถุดิบที่สะอาดปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมถึงรสชาติต้องอร่อยและไม่มีการเจือปนของสารเคมีด้วย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้